งานมหกรรม “Clean Energy Teacher for Change”

“มธ.” จัดงานมหกรรม “Clean Energy Teacher for Change”

นายพัฒนพงศ์ รานุรักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มธ.ในฐานะสถาบันการศึกษาที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้และการทำงานกับสังคม ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่ไม่จำกัดอยู่แค่เฉพาะในห้องเรียน โดยมุ่งมั่นที่พัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา ให้สามารถเป็นต้นทางในการพัฒนาความ ฉลาดรู้ และ ฉลาดคิด ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้เท่าทันทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิติทั้งในปัจจุบันและอนาคต

โดยโครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด ซึ่งดำเนินการโดย คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการตระหนักรู้ด้านพลังงาน (Energy Literacy) ให้กับเด็กและเยาวชน ด้วยการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมหรือรับประสบการณ์จากการลงมือทำด้วยตนเอง (Active Learning) ควบคู่ไปกับการบ่มเพาะให้บุคลากรทางการศึกษาได้รับความรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สามารถพัฒนาตนเองและส่งเสริมคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด มีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – มิถุนายน 2565 โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนกลุ่มครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษาจากทุกกลุ่มสาระทั่วประเทศที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 100 คน หรือ 50 ทีม ในการพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาสื่อการเรียนรู้เชิงเชิงบูรณาเรื่องพลังงานสะอาด ผ่านกระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการบนฐานการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ ก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมทางความคิด ทั้งในรูปแบบสื่อนวัตกรรมการเรียนรู้ งานวิจัยในชั้นเรียน บทเรียนออนไลน์ และระบบฐานข้อมูลคลังความรู้ออนไลน์ที่จะช่วยเผยแพร่นวัตกรรมเหล่านี้สู่ชุมชน และครูในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านพลังงานอย่างยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดงาน “Clean Energy Teacher for Change ครูพลังงานสะอาดเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่สื่อนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านพลังงานซึ่งออกแบบและพัฒนาโดยจากที่เข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งสิ้น จำนวน 50 ผลงาน โดยมีกำหนดการจัดงานถึงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ภายในงานประกอบด้วย 4 กิจกรรมไฮไลท์ อาทิ เวทีเสวนา CET Talk โดยครูที่เข้าร่วมโครงการฯ แลกเปลี่ยนการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้สู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ห้องอบรมย่อยสาธิตการใช้งานนวัตกรรม นิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านพลังงาน คลังความรู้และบทเรียนออนไลน์ 10 บทเรียนหลัก และ 50 บทเรียนย่อย เพื่อสร้างโอกาสและมุมมองใหม่ ๆ ในการพัฒนาสื่อสำหรับส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพลังงานสะอาดในชีวิตประจำวัน พร้อมกันนี้ยังได้เปิดโอกาสให้ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมงานเพื่อศึกษาองค์ความรู้ และได้เห็นแนวทางการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านพลังงานสะอาดอีกด้วย

งานมหกรรม “Clean Energy Teacher for Change”

“การจัดงานในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนด้านพลังงานแบบสร้างสรรค์จากครูทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ที่ออกแบบบนฐานการวิจัยในชั้นเรียน การบูรณาการองค์ความรู้ด้านพลังงานข้ามศาสตร์สาระการเรียนรู้เพื่อให้เยาวชนไทยได้เท่าทันองค์ความรู้ด้านพลังงาน กิจกรรมในวันนี้ถือเป็นแรงขับเคลื่อนอันทรงพลังและเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญในการกระตุ้นให้สังคมเกิดความตระหนักด้านพลังงานและเกิดการพัฒนานวัตกรรมการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดในอนาคต โดยกระบวนการดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีทุกฝ่ายให้เกิดการต่อยอดขยายผลในวงกว้าง และต้องดำเนินการในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความหลากหลาย ครอบคลุมทักษะ และความรู้ด้านพลังงานที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพต่อไป”

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า การส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้และความตระหนักด้านพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสื่อสารเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมด้านไฟฟ้าถือเป็นภารกิจหลักที่สำคัญประการหนึ่งของสำนักงาน กกพ.

โดยมีกองทุนพัฒนาไฟฟ้า มาตรา 97(5) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาไฟฟ้าของไทยให้ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม เสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และนำไปสู่ Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน

นอกจากนี้สำนักงาน กกพ. ยังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพลังงานในภาคการศึกษาซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เยาวชนและประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักดังกล่าวจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยให้เกิดความสมดุลในทุกมิติ และเชื่อมโยงสังคมทุกระดับ จากครัวเรือนสู่ชุมชน สังคมโดยรวม และในระดับโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ visartsrl.com

Releated